การผลิตที่ยั่งยืน: แนวปฏิบัติที่มากกว่าการลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม
Post Date : 28 March 2023
การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ รวมถึงปัญหามลภาวะต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทำให้เกิดภัยคุกคามต่อมนุษยชาติรุนแรงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้คนทั่วโลกต่างเรียกร้องถามหาความรับผิดชอบ ซึ่งแน่นอนว่าผู้ต้องหาสำคัญก็คือจากภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ในฐานะที่เป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทำให้ภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ ต้องหันมาสร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงแค่การดำเนินงานที่จะไม่สร้างปัญหาเพิ่มเติมให้กับโลก แต่ยังจะต้องสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
นี่ถือเป็นความท้าทายและโอกาสที่สำคัญและเป็นที่มาของแนวคิด Sustainable Manufacturing หรือ การผลิตที่ยั่งยืน
#การผลิตที่ยั่งยืน มุ่งเน้นไปที่ 4 กิจกรรมหลักที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ #การลดการใช้พลังงาน #การลดการใช้น้ำ #การลดการปล่อยของเสีย และ #การลดการสร้างขยะ โดยต้องดำเนินการภายใต้กิจกรรมที่ยั่งยืนในทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่ ผลิตภัณฑ์ กระบวนการ และระบบ (product, process, and system) โดยจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดในการพัฒนาสู่การผลิตที่ยั่งยืนคือการเริ่มตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ง่ายต่อการแยกชิ้นส่วน (Design for Disassembly) จะช่วยในส่วนของกระบวนการ repair, reuse, repurpose และ remanufacture การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ง่ายต่อการบำรุงรักษา (Design for Maintainability) จะช่วยในการยืดอายุการใช้งานผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่ภาคธุรกิจจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่หรือเพิ่มประสิทธิภาพที่มีอยู่ จึงควรต้อมี “การประเมินวัฏจักรชีวิต” ของผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการใหม่นี้ เพื่อช่วยให้เข้าใจถึงผลกระทบของผลิตภัณฑ์ที่จะมีต่อผู้คนและสังคมโดยรวมตั้งแต่เกิดจนตาย (Cradle to Grave) โดยจะพิจารณาตั้งแต่กระบวนการผลิตและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง
#การประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment: LCA) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ภาคอุตสาหกรรมสามารถนำมาใช้ในการประเมินประสิทธิภาพความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของกระบวนการผลิต โดยเป็นกระบวนการในการวิเคราะห์และประเมินผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมตลอด Life Cycle ของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่เกิดจนตาย (Cradle to Grave) โดยจะพิจารณาตั้งแต่กระบวนการผลิตและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง (การใช้วัตถุดิบและพลังงาน กระบวนการผลิต การขนส่ง การใช้งานผลิตภัณฑ์ และการนำไปกำจัด)
การประเมินนี้เป็นกุญแจสำคัญในการวิเคราะห์ทุกขั้นตอนในวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เริ่มจากการรวบรวมข้อมูลจากทุกขั้นตอนตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยให้เราเห็นภาพรวมของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ว่ามีการปล่อยมลพิษและมีของเสียที่เกิดขึ้นตลอดวงจรชีวิตในปริมาณเท่าใด รวมถึงการวัดประสิทธิภาพการใช้พลังงานและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงในกรณีที่จะมีการขยายกำลังการผลิต ก็จะต้องมีการทำความเข้าใจผลกระทบที่เครื่องจักรใหม่อาจมีต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากจะต้องดูกฎระเบียบข้อบังคับในปัจจุบันแล้ว ยังต้องดูไปถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของภายในประเทศรวมไปถึงประเทศที่เป็นผู้ซื้อสินค้าต่อไปด้วยมิฉะนั้นอาจจะต้องปรับปรุงและปรับให้เข้ากับกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
ความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมจะส่งผลให้ผู้บริโภคและองค์กรภาครัฐหันมาเรียกร้องกฎระเบียบด้านการปล่อยมลพิษและการใช้พลังงานที่เข้มข้น ครอบคลุม และกว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ ภาคธุรกิจจึงต้องเตรียมการเพื่อสร้างความสมดุลของผลกําไรและความรับผิดชอบต่อสังคม ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ทุกประเภทจะต้องพร้อมที่จะปรับให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้น
ซึ่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการผลิตให้เกิดความยั่งยืนนั้นต้องมีการคำนึงถึงต้นทุนในการดำเนินการที่สูงขึ้นอันเป็นผลจากการปรับกระบวนการผลิต ซึ่งถือเป็นอีกความท้าทายและต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในหลายด้าน
สำหรับประเทศไทยก็ได้มีการปรับตัว โดยมุ่งสนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า BCG Economy Model (Bio-Circular-Green Economy Model) หรือการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาเสริมสร้างจุดแข็งของประเทศไทย
EECi ในฐานะหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนให้มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีของประชาคมอย่างยั่งยืน จึงร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย ไปพร้อมกันกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ และลดผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อม อาทิ
#โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี (Biorefinery Pilot Plant) เพื่อสร้างคุณภาพและมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเกษตร และนำผลผลิตทางการเกษตร ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงของเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตหรือการบริโภคไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เป็นผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพ (Bio-based products) ประเภทต่างๆ ได้แก่ ชีวเคมีภัณฑ์ วัสดุชีวภาพ อาหาร และสารออกฤทธิ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษเพื่อเป็นองค์ประกอบในอาหารเสริมสุขภาพ เครื่องสำอาง หรือ โภชนเภสัชภัณฑ์
#เทคโนโลยีประเมินสรีระวิทยาและรูปลักษณ์ขั้นสูงของพืช (Plant Phenomics Facility) ที่จะสนับสนุนการศึกษาลักษณะการแสดงออกของพืช ทั้งทางด้านสรีรวิทยาและการสร้างผลผลิตที่ตอบสนองต่อสภาวะแวดล้อมต่างๆ ช่วยในการคัดเลือกพันธุ์ที่มีศักยภาพ สามารถคัดเลือกพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตเชิงปริมาณที่สูงควบคู่กับมีคุณสมบัติที่ดี มีคุณสมบัติตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตรไทย
#ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมสู่ Smart Manufacturing เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพและความแม่นยำ ลดระยะเวลาการผลิต รวมถึงการพัฒนาบุคคลากรภาคการผลิตให้มีทักษะและความเชี่ยวชาญให้พร้อมที่จะทำงานรวมกับเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมใหม่ในอนาคต
#Alternative Battery Pilot Plant เพื่อส่งเสริมการพัฒนาแบตเตอรีประสิทธิภาพสูงที่มีความปลอดภัย ต้นทุนต่ำ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เสริมความเข้มแข็งของไทยในการสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานของภูมิภาค
กดติดตาม EECi เพื่อรับข่าวสารด้านนวัตกรรมที่น่าสนใจ
ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 0-2564-8000 email: info@eeci.or.th
=================================
Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi)
Integrate Technologies, Accelerate Innovation
https://www.eeci.or.th/th/home
=================================
ที่มา:
https://www.oecd.orghttps://www.industr.com