บทบาทของเทคโนโลยีกับ Sustainable Practice ในอุตสาหกรรมการเกษตร
Post Date : 3 July 2024
เมื่อปัญหาสิ่งแวดล้อมทั่วโลกทวีความรุนแรงขึ้น ภาคการเกษตรจึงต้องเผชิญแรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้นในการนำแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้ ในขณะเดียวกันต้องตอบสนองความต้องการของประชากรในปัจจุบันทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพได้ด้วย การนำเทคโนโลยีมาใช้จึงเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนนี้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
แนวการปฏิบัติในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน คือ ระบบการผลิตทางด้านการเกษตรที่คำนึงถึงความสมดุล 3 มิติ คือ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ไม่ว่าจะเป็น
#การปลูกพืชหมุนเวียนและการปลูกพืชหลายชนิด ในพื้นที่เดียวกันตามลำดับฤดูกาลเพื่อจัดการความอุดมสมบูรณ์ของดิน ลดการระบาดของศัตรูพืชและโรค ช่วยเสริมสร้างความหลากหลายทางชีวภาพและความยืดหยุ่นของระบบนิเวศ
#การปลูกพืชคลุมดิน ใช้พืชคลุมดินในช่วงเวลาที่ไม่ได้ปลูกพืชหลักเพื่อป้องกันการกัดเซาะของดิน ปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วยการตรึงไนโตรเจน และยับยั้งวัชพืช
#การไถพรวนแบบอนุรักษ์ (conservation tillage) เป็นการไถพรวนที่ยังคงเหลือเศษซากพื้นให้เหลือคลุมดินอยู่
ลดการรบกวนของดิน รักษาโครงสร้าง ป้องกันการกัดกร่อนของดิน
#การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) เป็นการจัดการศัตรูพืชด้วยการเลือกใช้วิธีที่ผสมผสานกันอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการพึ่งพาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
#ป่าเกษตรกรรม (Agroforestry) การจัดสรรพื้นที่การเกษตรให้ใกล้เคียงกับระบบนิเวศป่าธรรมชาติ เพื่อเสริมสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ปรับปรุงโครงสร้างดิน และสร้างแหล่งรายได้เพิ่มเติม
#การเกษตรอินทรีย์ หรือการหลีกเลี่ยงการใช้สารสังเคราะห์ โดยเน้นกระบวนการและวัสดุธรรมชาติ ส่งเสริมสุขภาพดิน ความหลากหลายทางชีวภาพ และความสมดุลทางนิเวศวิทยา
นอกจากนี้ ยังควรต้องมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติทางเกษตรกรรมที่ยั่งยืน อาทิ
เกษตรแม่นยำ (Precision Farming), IoT และการเกษตรอัจฉริยะ (การตรวจสอบดิน ความชื้นในดิน สารอาหาร และอุณหภูมิ ด้วยเซ็นเซอร์, ระบบควบคุมสิ่งแวดล้อมในโรงเรือน), เทคโนโลยีชีวภาพ (การปรับพันธ์พืชเพื่อเพิ่มผลผลิต ความต้านทานศัตรูพืช และลดการพึ่งพาสารเคมี), รวมถึง เรื่องของพลังงานหมุนเวียน (พลังงานแสงอาทิตย์ กังหันลม) เป็นต้น
แน่นอนว่าแนวปฏิบัติทางเกษตรกรรมยั่งยืนจะเป็นแนวทางที่ภาคการเกษตรต้องประยุกต์ใช้ในอนาคต ด้วยการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ จะช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิต ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมในการสร้างระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืนต่อไป
กดติดตาม EECi เพื่อรับข่าวสารด้านนวัตกรรมที่น่าสนใจ
ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 0-2564-8000 email: info@eeci.or.th
=================================
Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi)
Integrate Technologies, Accelerate Innovation
https://www.eeci.or.th/th/home
=================================
ที่มา:
Food and Agriculture Organization of the United Nations (FAO): Sustainable Agriculture
International Society for Precision Agriculture (ISPA): Precision Agriculture
Journal of Integrated Pest Management: Integrated Pest Management
United States Department of Agriculture (USDA): Conservation Practices