ปัจจัยความสำเร็จ Digital Transformation
Post Date : 20 February 2023
Digital Transformation ไม่ใช่เป็นแค่การลงทุนซื้อเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเพื่อที่จะพาองค์กรก้าวสู่ยุคดิจิทัล เพราะแม้แต่เทคโนโลยีที่ดีที่สุดก็จะกลายเป็นความสูญเปล่าหากคุณไม่มีกระบวนการหรือทีมงานที่มีทักษะเหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล องค์กรต้องทำความเข้าใจความหมายพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการแทนที่เทคโนโลยีเก่าด้วยเทคโนโลยีใหม่ ในความเป็นจริงสาระสําคัญของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลคือ “การเปลี่ยนสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลแทนที่จะเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์” ซึ่งหมายความว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นต่อเมื่อองค์กรสามารถจัดการให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนและวิธีการดําเนินงานขององค์กรได้นั่นเอง
Harvard Business Review ได้นำเสนอ 5 องค์ประกอบที่จำเป็นสู่การ Digital Transformation ขององค์กรไว้ดังนี้ :
#People
Digital Transformation ต้องเริ่มต้นจาก “คน” ซึ่งหมายรวมถึง ผู้บริโภค ผู้ที่ใช้บริการ และพนักงาน ซึ่งถือเป็นแก่นหลักที่จะเป็นทั้งผู้ให้และผู้ใช้ประโยชน์จาก “ข้อมูล” ซึ่งจะช่วยให้องค์กรที่มีขนาดใหญ่หรือซับซ้อนสามารถทำความรู้จักลูกค้าหรือพนักงานได้อย่างเจาะลึก
#Data
ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับลูกค้าและพนักงาน เป็นข้อมูลที่มีความซับซ้อน เนื่องจากเป็นข้อมูลที่มาจากหลายแหล่งและจากหลากหลายสถานการณ์ ทำให้มีปริมาณข้อมูลมหาศาล ซึ่งนี่จะเป็นส่วนเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในกระบวนเก็บข้อมูลหรือสร้างบันทึกของผู้คนในรูปแบบดิจิทัล (เช่น สิ่งที่พวกเขาทํา สิ่งที่พวกเขาเป็น สิ่งที่พวกเขาชอบ เป็นต้น ) เราเรียกสิ่งนี้ว่า “การแปลงเป็นดิจิทัล (digitization)” หรือกระบวนการของ datafying เพื่อแปลพฤติกรรมของมนุษย์เป็น standardized signals (0s และ 1s) นี่คือประโยชน์ที่แท้จริงจากเทคโนโลยี ซึ่งต้องระลึกไว้เสมอว่าไม่ใช่ด้าน “Hard” (เช่น เครื่องมือ ระบบ หรือโครงสร้างพื้นฐาน) แต่เป็นในด้าน “Soft” (เช่น การเก็บข้อมูลที่มีค่า) นั่นเอง
#Insight
ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้มาจะมีค่าหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถนำข้อมูลที่กระจัดกระจายมาวิเคราะห์ ปรับแปลง ปรับแต่งและใช้มันเพื่อสร้างให้เกิดผลกระทบที่องค์กรต้องการ ด้วยความสามารถของเทคโนโลยีและเครื่องมือทำให้ในปัจจุบันเราสามารถเปลี่ยนจาก “ข้อมูลธรรมดา” ไปสู่ “ข้อมูลเชิงลึก” ได้ ช่วยให้เราให้ความหมายกับข้อมูล สามารถนำมาใช้ทดสอบสมมติฐานผ่านแบบจําลอง ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเสมอไป แต่ก็เป็นการลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ
#Action
เมื่อเราได้ข้อมูลเชิงลึกมาแล้ว สิ่งที่สำคัญที่องค์กรต้องผลักดันให้เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกที่ได้รับออกมาเป็นแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน ซึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของมนุษย์ว่าจะทำอย่างไรกับข้อมูลที่ได้รับมาจาก AI, Data Science หรือระบบ Data Analytic ต่าง ๆ (เช่น หากข้อมูลเชิงลึกบอกคุณว่าลูกค้าไม่ชอบผลิตภัณฑ์บางอย่าง สิ่งนี้จะมีอิทธิพลต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกลยุทธ์การตลาดของคุณอย่างไร) AI สามารถทําการคาดการณ์และให้ข้อมูลเชิงลึกแก่เรา แต่ส่วน “แล้วจะดำเนินการต่ออย่างไร” ต้องการทักษะและการจัดการที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง นี่คือเหตุผลที่ ความสามารถของทีมงานมีบทบาทสําคัญเป็นอย่างยิ่งในการปลดล็อก (หรือปิดกั้น) การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลขององค์กร
#Result
ท้ายที่สุดเราจะสามารถประเมินผลลัพธ์หรือผลกระทบที่จะเกิดตามมาได้ โดยหลังจากที่คุณประเมินผลลัพธ์ได้แล้วก็ต้องกลับไปดูในส่วนของข้อมูล เพราะผลลัพธ์ที่ได้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุดข้อมูลใหม่ที่เข้มข้นขึ้น ทำให้ข้อมูลเชิงลึกกลายเป็นการคาดการณ์ที่มีความหมายและมีคุณค่ามากขึ้น ช่วยเพิ่มและพัฒนาทักษะที่จําเป็นของทีมงาน ช่วยให้การทํางานร่วมกันระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สรุปสั้นๆ ก็คือส่วนสําคัญของ Digital Transformation ไม่ใช่ “Digital” แต่เป็นการ “Transformation” การปรับองค์กรและทีมงานของคุณให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่สามารถทําได้ในข้ามคืนหรือเพียงแค่ซื้อเทคโนโลยีใหม่หรือรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม สิ่งที่จําเป็นคือการเปลี่ยนแปลงความคิด วัฒนธรรมองค์กร และการพัฒนาความสามารถ ยกระดับความรู้ และสร้างทักษะใหม่ให้กับพนักงานเพื่อให้พวกเขาพร้อมที่จะเติบโตไปพร้อมกับการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงที่จะรวดเร็วมากขึ้นในอนาคต
เพื่อสนับสนุนให้องค์กรทุกภาคส่วนของไทยสามารถเตรียมความพร้อมด้านกำลังคน EECi จึงได้ร่วมกับพันธมิตรจัดตั้ง “RUNs Academy (Reskill-Upskill-New skill Academy)” เพื่อเพิ่มทักษะชั้นสูงและทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานสมัยใหม่ให้กับกำลังคนในภาค SMEs และภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยในระยะแรกจะมุ่งเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนและสนับสนุนการพัฒนาสามเศรษฐกิจตามแนวทาง “BCG Economy” หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
กดติดตาม EECi เพื่อรับข่าวสารด้านนวัตกรรมที่น่าสนใจ
ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม email: info@eeci.or.th
=================================
Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi)
Integrate Technologies, Accelerate Innovation
https://www.eeci.or.th/th/home
=================================
ที่มา:
The Essential Components of Digital Transformation (hbr.org)
#digitaltransformation #reskills #upskills #newskills