สรุปงานสัมมนา IDA Platform
Post Date : 29 July 2021
ก้าวสู่ Industry 4.0 ด้วย IDA Platform
จากงานสัมมนา “แพลตฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม (IDA: Industrial IoT and Data Analytics platform) เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและอนุรักษ์พลังงาน” ที่จัดภายในงาน INTERMACH 2020 ณ ไบเทคบางนาระหว่างวันที่ 23-26 กันยายน 2563 โดย EECi ได้ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA) ร่วมกับตัวแทนจาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และ บริษัท ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย จำกัด มาร่วมแบ่งปันองค์ความรู้และความคิดเห็น
ในช่วงแรกของงาน ดร. รวีภัทร์ ผุดผ่อง ผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมืออุตสาหกรรมสมัยใหม่ (EECi) ได้กล่าวเปิดงานโดยพูดถึง IDA Platform ว่าเป็นหนึ่งในโครงการของศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายในเมืองนวัตกรรม ARIPOLIS ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เมืองนวัตกรรมเป้าหมายภายใต้ EECi
ดร. อุดม ลิ่วลมไพศาล หัวหน้าทีมวิจัย NECTEC และ ตัวแทนของ SMC กล่าวถึง SMC ว่าจะเข้ามาช่วยยกระดับการผลิตจาก Industry 2.0 สู่ Industry 4.0 ผลักดันภาคการเกษตรจาก Traditional Farming สู่ Smart Farming และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนสู่ Smart Life
โดยในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยประสบปัญหาที่สำคัญได้แก่ แรงงานขาดแคลนและขาดทักษะที่จำเป็น เครื่องจักรที่ใช้งานอยู่ขาดความทันสมัย ขาดประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต และผลิตภัณฑ์ขาดความน่าสนใจ ซึ่ง IDA Platform จะช่วยติดตาม วิเคราะห์ข้อมูล และตรวจสอบประสิทธิภาพการผลิต การใช้พลังงาน รวมถึงค่าสภาวะต่าง ๆ ของเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อช่วยปรับปรุงกระบวนการการผลิตให้มีศักยภาพและแม่นยำมากขึ้น โดยมีโรงงานนำร่องเข้าร่วมโครงการในปี 2563 จำนวน 15 โรงงาน และจะขยายไปอีก 500 โรงงานภายในเวลา 3 ปี
แต่ก่อนที่ภาคการผลิตจะปรับตัวสู่ Industry 4.0 ได้นั้น ต้องกลับมาดูภายในองค์กรก่อนว่ามีความพร้อมอยู่ในระดับใด ซึ่ง ดร.รวีภัทร์ พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าทาง SMC ได้มีการนำระบบการประเมินที่เรียกว่า “ดัชนีชี้วัดความพร้อมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ (Smart Industry Readiness Index: SIRI)” ที่พัฒนาขึ้นโดย Economic Development Board (EDB) ของประเทศสิงคโปร์ มาใช้เป็นเกณฑ์ ซึ่ง SIRI ได้รับการยอมรับจากบริษัทในสิงคโปร์มากกว่า 300 บริษัท และมีบริษัทไทยเริ่มทำการประเมินนี้แล้วกว่า 20 บริษัท
SIRI จะประเมินความพร้อมของโรงงานใน 3 ด้านหลัก คือ Process, Technology, และ Organization โดยจะเจาะลึกลงไปใน 16 มิติย่อย และจะมีการให้คะแนนตั้งแต่ 0-5 ตามระดับความพร้อมในการเข้าสู่ Industry 4.0
คุณจำรัส สว่างสมุทร ผู้อำนวยการใหญ่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าภาคการผลิตถึงเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพราะ 60% ของ GDP นั้นมาจากการส่งออก ดังนั้นการที่ไทยจะสามารถแข่งขันทั้งด้านราคาและเทคโนโลยีกับต่างประเทศได้นั้น ต้องมีการปรับตัวและสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการผลิต ซึ่งในส่วนของสภาอุตสาหกรรมฯ เองนั้นมีหน่วยงานที่คอยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการยกระดับการผลิตอยู่ถึง 9 สถาบัน มีการสนับสนุนให้มีการนำ Robot & Automation มาใช้ในการผลิต และในปีนี้ได้มีนโยบายที่จะส่งเสริมการนำ IDA Platform เข้ามาใช้ในโรงงานผลิต
ดร.ณัฐพล รุ่นประแสง ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาดิจิทัลพลังงาน พพ. กล่าวว่า IDA Platform ที่ได้มีการเริ่มเก็บข้อมูลจาก 15 โรงงานนำร่อง และที่จะขยายผลต่อไปนั้น จะช่วยให้ประเทศมี Index กลางเป็นตัวชี้วัด เพื่อให้โรงงานเอามาเปรียบเทียบให้รู้ว่าค่า Index แต่ละตัวของโรงงานสูงหรือต่ำกว่าค่ากลางของประเทศ และควรปรับปรุงในด้านใด โดยประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นปัญหาหลักของทุกโรงงานก็คือเรื่องพลังงาน ซึ่งบทบาทของ พพ. คือการดูแลเรื่องการผลิตและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายในการลดความเข้มข้นในการใช้พลังงานลง 30% ภายในปี 2580 และมีการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นอีก 30%
ในส่วนของตัวแทนจากภาคเอกชน นายแพทย์ศิริชัย ลิ้มสกุล ผู้อำนวยการ บริษัท ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงงานที่ร่วมโครงการนำร่องกล่าวว่านอกงจากโรงงานได้ประโยชน์จากการประหยัดแล้ว ยังได้ประโยชน์จากการ Connect กับหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้พบระหว่างการร่วมโครงการนำร่อง เกิดเป็นโครงการใหม่เพื่อพัฒนาองค์กรต่อไป
สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการนำร่องจะได้รับการสนับสนุนด้านการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ประกอบด้วย
[1] การประเมินระดับความพร้อมในการก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0
ด้วยดัชนีชี้วัดความพร้อมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ (Smart Industry Readiness Index: SIRI) และได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ
[2] การติดตั้งและใช้งานแพลตฟอร์ม IDA (ด้านการตรวจสอบและจัดการการใช้พลังงาน)
ประกอบด้วย เซนเซอร์ตรวจจับสัญญาณต่อเชื่อมผ่านอุปกรณ์ Universal Remote Terminal Unit (uRTU) ส่งข้อมูลสัญญาณต่างๆ ขึ้น NETPIE แพลตฟอร์ม IoT โดยข้อมูลจะถูกนำไปแสดงให้เห็นบน Dashboard เพื่อแสดงสุขภาพของเครื่องจักร
นอกจากนี้โครงการฯ จะจัดทำความตกลงเรื่องการเก็บรักษาข้อมูลที่เป็นความลับอย่างชัดเจน พร้อมผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล (Information Security และ IoT Security) จากนักวิจัยเนคเทค – สวทช. และพันธมิตรที่ร่วมในโครงการฯ อีกด้วย
กดติดตาม EECi เพื่อรับข่าวสารด้านนวัตกรรมที่น่าสนใจ
ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 0-2564-8000 email: info@eeci.or.th