13 พันธมิตรจับมือเดินหน้าพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและอนุรักษ์พลังงานด้วยแพลทฟอร์ม IDA ช่วยเหลือ SME ไทยหลังโควิด-19
Post Date : 29 July 2021
วันที่ 19 มิถุนายน 2563 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย: พิธีลงนามความร่วมมือแบบพหุภาคีออนไลน์ผ่านระบบ Webex ครั้งแรกในประเทศไทย ประกาศเจตนารมณ์ในความร่วมมือเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยการผลักดันแพลทฟอร์ม IDA หรือ Industrial IoT and Data Analytics Platform ซึ่งเป็นแพลทฟอร์มไอโอที (IoT) และระบบวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ที่เชื่อมโยงข้อมูลจากเครื่องจักรการผลิต และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและอนุรักษ์พลังงานให้ดีที่สุด ตอบสนองความจำเป็นเร่งด่วนต่อการปรับตัวของ SME ในภาคการผลิต สอดรับการเปลี่ยนแปลงรอบด้านภายหลังจากโควิด-19
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประธานในพิธี กล่าวว่า “โลกหลังโควิดจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะมีความจำเป็นในการปรับตัวของทุกภาคส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่มีการแข่งขันสูง และในปัจจุบันมีความผันผวนสูงเช่นเดียวกัน รัฐบาลจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยสนับสนุน SME ให้สามารถปรับใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม และรองรับความท้าทายใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมเป็นพันธกิจหนึ่งที่สำคัญของ สวทช. โดยในปี 2564 ได้เสนอให้รัฐบาลลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อสนับสนุนการขยายผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ (Translational Research) โดยการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ขึ้นภายในเมืองนวัตกรรม ARIPOLIS ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองนวัตกรรมเป้าหมายภายใต้ EECi ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะในอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC เป็นการช่วยลดช่องว่างของการพัฒนาอุตสาหกรรมและสามารถช่วยยกระดับการผลิตสู่ Industry 4.0 ได้ในอนาคต ซึ่งเทคโนโลยี “แพลทฟอร์ม IDA” (Industrial IoT and Data Analytics Platform: IDA Platform) เป็นแพลทฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม ที่ช่วยติดตาม วิเคราะห์ข้อมูล และตรวจสอบประสิทธิภาพการผลิต การใช้พลังงาน รวมถึงค่าสภาวะต่าง ๆ ของเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อช่วยปรับปรุงกระบวนการการผลิตให้มีศักยภาพและแม่นยำมากขึ้น สำหรับการเปิดตัวในวันนี้ก็นับเป็นหนึ่งในงานสำคัญที่จะเกิดขึ้นในศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน ภายใต้ EECi ARIPOLIS แห่งนี้”
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า “กฟผ.ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพลังงานในการดำเนินงานตามมาตรการอนุรักษ์พลังงานสำหรับผู้ผลิตและจำหน่ายพลังงาน ซึ่งมีเป้าหมายประหยัดไฟฟ้า (Energy Efficiency Resources Standards – EERS) ตามกลยุทธ์ในแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 – 2579 (Energy Efficiency Plan : EEP 2015) ซึ่งที่ผ่านมา กฟผ. ดำเนินโครงการนำร่องศึกษาผลการลดการใช้ไฟฟ้า ผ่านการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management) ที่ดำเนินงานมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2536 ประกอบด้วย งานที่ปรึกษาในรูปแบบ ESCO ให้กับลูกค้าทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมทั้งรายใหญ่และรายเล็ก (SME) โครงการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงเรียนและภาคครัวเรือน และโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้ในปัจจุบัน กฟผ. มีนโยบายในการพัฒนาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมผ่านระบบ Smart Energy Digital Platform ซึ่งผสมผสานเทคโนโลยีดิจิทัลกับระบบตรวจวัดอัจฉริยะ และประมวลผลข้อมูลด้วยระบบ Data Analytic with AI ซึ่งจะตอบโจทย์เป้าหมายของการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานสูงสุด ซึ่งประสบการณ์และ Core Competency ของ กฟผ. ในด้านต่าง ๆ จะถูกนำมาใช้ในการผลักดันโครงการ IDA แพลทฟอร์มเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้เข้าสู่การเป็น Industrial 4.0 สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ ซึ่งจะสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ กฟผ. ที่จะนำนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของทุกภาคส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย”
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า
“ดีป้า และ สวทช. ได้ร่วมมือกันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของประเทศเสมอมา เพราะในการขับเคลื่อนประเทศสู่ยุคดิจิทัลนั้นไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากการประสานความร่วมมือจากหลายฝ่าย เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนได้ ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นความร่วมมือด้านวิชาการส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อยกระดับการดำเนินงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ โดยดีป้าและสวทช. จะมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อยอดงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้างเข้าสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ที่สนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล รวมถึงการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ดิจิทัลเพื่อยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ดิจิทัลในประเทศ ช่วยลดความเสี่ยงของประชาชนในการเลือกใช้สินค้าหรือบริการดิจิทัลที่ด้อยคุณภาพ ตลอดจนการร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรและกำลังคนที่มีทักษะด้านดิจิทัล โดยเฉพาะในสาขาที่ขาดแคลนป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรม รองรับกับการขับเคลื่อน Thailand 4.0
นอกจากนี้ในการพัฒนาพื้นที่ EEC ด้านกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดยดีป้า ได้เร่งสร้าง Thailand Digital Valley ใน EECd (Digital Park Thailand) เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ ซึ่งดีป้ามุ่งพัฒนาให้เกิดเป็นศูนย์กลางของการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลของภูมิภาค หรือ ASEAN Digital Hub เพื่อรองรับการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เป็นพื้นที่ วิเคราะห์ ทดสอบ ทดลอง เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของนักลงทุนและของ Digital startup ทั้งของไทยและต่างประเทศ”
นายโกมล บัวเกตุ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า “ภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคส่วนที่มีการใช้พลังงานสูงและมีศักยภาพสูงในการอนุรักษ์พลังงาน เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญตามแผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศ โดย พพ. มีกลไกในการกำกับดูแลโรงงานให้มีการจัดการการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพและการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นทั้งในรูปของเครื่องจักร/อุปกรณ์ การปรับปรุงกระบวนการผลิตและระบบควบคุมที่มีประสิทธิภาพ โดยการพัฒนาแพลทฟอร์ม IDA ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในการช่วยกำกับดูแลการใช้พลังงานของโรงงานให้มีประสิทธิภาพอย่างมีมาตรฐานและเป็นระบบ ภายใต้ พรบ.ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 ที่ พพ. กำกับดูแล และสามารถขยายผลให้ครอบคลุมในประเภทอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ในอนาคต ซึ่งนวัตกรรมนี้จะช่วยยกระดับให้การอนุรักษ์พลังงานในระดับประเทศก้าวไปอีกขั้นโดยนำนวัตกรรมด้านข้อมูลวิศวกรรมมาวิเคราะห์ ค้นหาจุดสูญเสีย และวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมแบบเป็นปัจจุบันและต่อเนื่อง โดย พพ. พร้อมที่จะสนับสนุนและร่วมมือในโครงการนี้อย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดผลในระยะยาวในการลดการใช้พลังงานตามเป้าหมายของประเทศที่วางไว้ต่อไป”
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรม (สอท.) กล่าวว่า “แพลทฟอร์ม IDA หรือแพลทฟอร์ม IoT นั้นเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะทำให้ผู้ประกอบการหรือเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมนั้น สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงได้ ในราคาที่ไม่สูงมาก เพราะว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาภายในประเทศโดยคนไทย” ซึ่งแพลทฟอร์มจะมีการใช้เทคโนโลยี IoT มาช่วยเป็นเครื่องมือ ช่วยให้เกิด KPI (Key Performance Index) ในการปรับปรุงโรงงานอย่างมีทิศทาง โดยแพลทฟอร์ม IoT นั้นจะเข้ามาช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปของภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ รวมทั้งช่วยสถานประกอบการ โรงงาน และบริษัท SME ให้สามารถยกระดับความสามารถและประสิทธิภาพสู่อุตสาหกรรม 4.0 เข้าสู่ Industry Transformation ของภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้นโยบาย Thailand 4.0 เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สามารถเข้าร่วมโครงการเพื่อปรับปรุงโรงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านทางโครงการและความร่วมมือในครั้งนี้
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า “แพลทฟอร์ม IDA สามารถประยุกต์ใช้ได้หลายงาน เช่น 1) การตรวจวัดปริมาณการใช้พลังงานในโรงงาน (Energy Monitoring) เพื่อเก็บข้อมูล วิเคราะห์ และปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงาน 2) การปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต หรือ Overall Equipment Effectiveness (OEE) เพื่อเพิ่มผลผลิต (Productivity) แก่โรงงานอุตสาหกรรม 3) การบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ (Predictive Maintenance) เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต มีเป้าหมายในการขยายผลสู่ 500 โรงงานในระยะ 3 ปี ซึ่งในปี 2563 นี้จะมีการติดตั้งระบบในโรงงานอุตสาหกรรมนำร่อง จำนวน 10-20 โรงงาน โดยเป็นการร่วมทดสอบระบบและอุปกรณ์ที่ใช้ในแพลทฟอร์ม IDA เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถเชื่อมต่อกันได้กับผู้ผลิตเทคโนโลยีชั้นนำจากต่างประเทศ”
ความร่วมมือในครั้งนี้นอกจากจะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐแล้ว ยังมีบริษัทเอกชนทั้งที่เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีรายใหญ่ในวงการอุตสาหกรรม 4.0 ของโลกและบริษัทเอกชนไทย รวมทั้งสิ้นจำนวน 8 บริษัท ร่วมทำงานเพื่อส่งมอบเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้แก่ผู้ประกอบการ SME ไทย ดังนี้ บริษัท ซีเมนส์ อินดัสเทรียล จำกัด, บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ออมรอน อีเลคทรอนิคส์, บริษัท พาโลอัลโต้ เน็ตเวิร์กส์, บริษัท เน็กซ์พาย จำกัด, บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จํากัด และ สถาบันเทคโนโลยีการผลิตสุมิพล โดยแต่ละรายจะมีการสนับสนุนการทดลองใช้เทคโนโลยี/อุปกรณ์/ผลิตภัณฑ์ เพื่อทำการทดสอบการใช้งานจริงในโรงงานนำร่อง มีการแบ่งปันองค์ความรู้เพื่อการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการพัฒนากำลังคนและบุคลากรด้านอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ IDA แพลทฟอร์มได้ โดยจะได้รับการประเมินความพร้อมในการก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยดัชนีชี้วัดความพร้อมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ (Smart Industry Readiness Index) และการติดตั้งระบบมอนิเตอร์อัจฉริยะสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมโดยผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nectec.or.th/innovation/ida