อุตสาหกรรมมุ่งเป้า
เครื่องมือแพทย์
ปัจจุบันระบบสุขภาพของไทยกำลังเผชิญกับสิ่งท้าทายจากรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนจากสังคมชนบทสู่สังคมเมือง การเชื่อมต่อการค้าการลงทุนจากทั่วโลก ตลอดจนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้ประชาชนมีความคาดหวังต่อคุณภาพของระบบบริการสุขภาพมากขึ้น ในขณะที่งบประมาณของภาครัฐมีอย่างจำกัด ส่งผลให้งบประมาณไม่เพียงพอต่อการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ภาครัฐต้องเตรียมการเพื่อรองรับกับสิ่งต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงได้บรรจุเรื่องการแพทย์และสาธารณสุขไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยได้กำหนดให้เป็นหนึ่งในเป้าหมายอนาคตประเทศไทยปี พ.ศ. 2579 คือ การส่งเสริมให้คนไทยมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ และส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือที่รู้จักกันในนาม Medical Hub โดยการที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติได้นั้น จำเป็นที่จะต้องทราบถึงสถานการณ์ด้านการแพทย์และสุขภาพของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการบริการด้านสุขภาพ ยา และเวชภัณฑ์ รวมถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 – 2558 ไทยมีมูลค่านำเข้าสินค้าทางการแพทย์ (ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์) เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สินค้าทางการแพทย์ดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีความสำคัญกับการดำเนินชีวิตของคนไทยในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพอนามัยมากขึ้น จนส่งผลให้อุตสาหกรรมสินค้าทางการแพทย์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
แต่หากย้อนกลับมามองถึงอุตสาหกรรมสินค้าทางการแพทย์ของไทย เพื่อรองรับนโยบาย Medical Hub ของรัฐบาลที่มุ่งจะปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาขีดความสามารถให้มีศักยภาพรองรับการแข่งขันในอนาคตได้นั้นกลับพบว่า สินค้าทางการแพทย์ที่ไทยผลิตส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มไม่สูงมากนัก เช่น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย และวัสดุอุปกรณ์ในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลือง ซึ่งไม่ได้ผลิตด้วยเทคโนโลยีระดับสูง แต่ในทางกลับกันไทยมีการนำเข้าสินค้าในกลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างต่อเนื่อง เช่น เครื่องเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ เครื่องวินิจฉัยโรคด้วยไฟฟ้า เป็นต้น ดังนั้นการที่จะนำพาให้ไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติได้อย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นที่ไทยจะต้องพัฒนาสินค้าทางการแพทย์ที่สามารถนำเอาเทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมต่างๆ มาใช้ในการผลิต ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ภายในประเทศ และสินค้าเหล่านั้นต้องได้รับการรับรองมาตรฐานภายในประเทศและในระดับสากล เพื่อไทยจะได้เป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถผลิตและส่งออกสินค้าทางการแพทย์เข้าไปแข่งขันในตลาด และตอบโจทย์การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้
ทั้งนี้ เนื่องจากอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ส่วนใหญ่ของไทยยังเป็นลักษณะของการซื้อมาขายไป และยังขาดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นของตนเอง แม้ไทยจะมีผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นจำนวนมากก็ตาม แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ไม่ซับซ้อน ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านโลหะ (เตียงผ่าตัด เตียงคนไข้) กลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านทันตกรรม (ชุดยูนิตทำฟันครบชุด เครื่องขูดหินปูนไฟฟ้าซีเมนต์อุดฟัน) กลุ่มผลิตภัณฑ์ชุดแต่งกายสำหรับการใช้งานในห้องผ่าตัด กลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทใช้สิ้นเปลือง กลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีระดับกลาง เช่น เครื่องรังสีเอกซ์ เครื่องนึ่ง และ เครื่องวัดความดันโลหะ เป็นต้น
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถถ่ายทอดไปสู่ภาคอุตสาหกรรมหรือสู่เชิงพาณิชย์ได้นั้นเป็นเรื่องยากยิ่งสำหรับผู้ประกอบการไทย ซึ่งที่ผ่านมาการวิจัยและพัฒนาของไทยยังไม่สามารถนำไปสู่เชิงพาณิชย์ได้เท่าที่ควร เนื่องจากอุปสรรคสำคัญคือ ผลิตภัณฑ์ที่มีการวิจัยพัฒนาและผลิตโดยคนไทยยังไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์ได้ รวมถึงมาตรฐานผลิตภัณฑ์ มาตรฐานการผลิตของสถานประกอบการที่ผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ การให้บริการหลังการขาย การรับประกันสินค้า และการยอมรับจากผู้ใช้ ซึ่งยังเป็นอุปสรรคที่ผู้ประกอบการผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ประสบอยู่
การที่จะผลักดันผลงานวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการแพทย์ เช่น Medical Robot for Aging, Rehabilitation Assistive Devices, X-ray Imaging/CT, Wearable Sensor Device + AI ดังแสดงในภาพที่ 3-5 ได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการเทคโนโลยีขั้นสูงหลายสาขา เช่น เทคโนโลยีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ระบบอัตโนมัติ ระบบเซ็นเซอร์ และการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ และการเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์เข้ากับอินเทอร์เน็ต (Internet of Things) เทคโนโลยีวัสดุขั้นสูงเพื่อพัฒนาวัสดุฝังใน เทคโนโลยีการออกแบบและผลิตด้วยคอมพิวเตอร์ (CAD/CAM/CNC/3D Printer) การเก็บข้อมูลกายวิภาคเฉพาะบุคคล รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เช่น ศูนย์สัตว์ทดลองเฉพาะทาง ศูนย์ทดสอบประสิทธิภาพ ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ทางคลีนิค และศูนย์รับรองผลิตภัณฑ์เพื่อเชื่อมโยงไปสู่มาตรฐานผลิตภัณฑ์เครืองมือแพทย์ของ อย. เป็นต้น ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาศักยภาพให้สามารถดึงดูดผู้ประกอบการที่สำคัญระดับโลกเข้ามาประกอบกิจการหรือวิจัยและพัฒนาในประเทศไทย
แผนที่นำทางเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์
แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์
- การพัฒนาเครื่องมือแพทย์ในระดับห้องปฏิบัติการพัฒนาโดยหน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงหลายสาขาดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น บูรณาการองค์ความรู้จนสามารถสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์/กระบวนการ/บริการ ในระดับห้องปฏิบัติการได้
- ศูนย์การวิจัยและห้องปฏิบัติการปลายน้ำ ได้แก่ Service Industry – Service innovation for the elderly, Preventive & Aging in Place, Wellness device for personal use, เทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ (เพื่อการท่องเที่ยวและที่บ้าน), บ้านอัจฉริยะ (Smart home) ที่มีการใช้ไฟและแสงสว่างที่เหมาะสม, เตียงนอนอัจฉริยะ (Smart Bed) ที่มีการสื่อสารกับผู้ดูแล, อุปกรณ์ยก, คลินิกปรับพฤติกรรม-เครื่องออกกำลังกาย, Exoskeleton, Reverse Engineering, Primary care เป็นต้น
- ทดสอบมาตรฐานด้านเครื่องมือแพทย์อย่างครบวงจร ประกอบด้วย
- ห้องปฏิบัติการทดสอบที่เข้าหลักเกณฑ์ เช่น ห้องปฏิบัติการ Bio-Compatibility, Control Design, ศูนย์อำนวยความสะดวกสำหรับการวิจัยก่อนคลินิก เช่น ศูนย์สัตว์ทดลอง และ การทดสอบระดับคลินิก เป็นต้น
- หน่วยงานรับรองมาตรฐานระดับสากล เช่น CE Mark และ ISO 13485
- การเชื่อมโยงฐานข้อมูลมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง