โอกาสทางธุรกิจจากระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
โพสเมื่อ : 4 พฤษภาคม 2021
ในทุกปีมนุษย์โลกใช้ทรัพยากรถึงหนึ่งแสนล้านตัน ในการผลิตสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแร่ธาตุ โลหะ น้ำมันดิบ รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตอย่างพืชและสัตว์ แต่มีเพียง 8.6% เท่านั้นที่ถูกนำกลับมารีไซเคิล ถ้าเทียบกับปี 1970 แล้วเรามีการใช้งานทรัพยากรเพิ่มขึ้นถึงสามเท่า และหากภาคการผลิตยังใช้วิธีการเดิม ๆ ต่อไป ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวภายในปี 2050 หมายความว่าเราต้องใช้ทรัพยากร 1.5 เท่าของจำนวนทรัพยากรที่มีในโลกจึงจะเพียงพอกับความต้องการ
ถึงเวลาที่เราต้องเริ่มปฏิวัติวิถีการบริโภคแบบใช้แล้วทิ้งสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) กันอย่างเต็มรูปแบบ การออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องมีการคิดยาวไปจนถึงการจัดการกับของเสียและมลพิษที่จะเกิดขึ้นตลอดกระบวนการ วัสดุและผลิตภัณฑ์ต้องมีอายุการใช้งานที่นานขึ้น เพื่อทิ้งระยะเวลาในการฟื้นฟูกับระบบทางธรรมชาติ
“ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy)” เป็นทางออกที่ทำให้องค์กรภาคธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียนมีหลัก 3 ประการ ได้แก่
1) การรักษาและเพิ่มประสิทธิภาพทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Capital) มุ่งเน้นที่การสร้างประโยชน์หรือคุณค่าของทรัพยากรในทุกกระบวนการให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ มีการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีสะอาด และการใช้พลังงานทดแทนเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
2) การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการหมุนเวียนวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและวัสดุต่างๆ เป็นการออกแบบเพื่อลดของเสียและไม่มีสารพิษ ใช้วัตถุดิบที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย ออกแบบให้สามารถนำมาใช้ได้อีกครั้งและใช้พลังงานน้อยที่สุด สามารถคงคุณภาพเดิมได้มากที่สุด รวมทั้งต้องคำนึงถึงการบำรุงรักษาและการซ่อมแซมให้สามารถปรับปรุงแปรสภาพสินค้าที่ผ่านการใช้งานมาแล้วในระยะหนึ่งให้กลับมาให้มีคุณสมบัติเหมือนของใหม่ เพื่อยืดอายุการใช้งานของสินค้า
3) การรักษาประสิทธิภาพของระบบด้วยการออกแบบเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านลบจากผลิตภัณฑ์ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของดิน น้ำ อากาศ หรือแม้กระทั่งมลภาวะทางเสียง เป็นต้น
จากรายงาน CEO Guide to the Circular Economy ของ WBCSD ระบุว่า มีวัสดุหรือกิจกรรมทั้งหมด 8 ชนิด ที่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยเร่งด่วน ได้แก่ เหล็ก (Steel) อลูมิเนียม (Aluminium) พลาสติก (Plastic) แก้ว (Glass) ซีเมนต์ (Cement) ไม้ (Wood) พืช (Primary Crops) และปศุสัตว์ (Cattle)
Business Models ที่ภาคธุรกิจสามารถนำไปปรับเพื่อการเดินหน้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือที่เรียกว่า Circular Economy ซึ่งมีอยู่ 5 รูปแบบ ได้แก่
1) Circular Supplies คือ การนำวัสดุจากการรีไซเคิล วัสดุชีวภาพ (Bio-based materials) และวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้มาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต รวมถึงการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต ไม่วาจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม
2) Product as a Service คือ การเปลี่ยนรูปแบบจากการจำหน่ายสินค้าแบบซื้อขาด มาเป็นการให้บริการในรูปแบบ “การเช่า” หรือ “การจ่ายเมื่อใช้งาน” (pay-per-use) ที่มาพร้อมบริการหลังการขายเพื่อช่วยให้สินค้ามีอายุการใช้งานนานขึ้น ลดภาระผู้ซื้อในการดูแลรักษาผลิตภัณฑ์ ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นการช่วยลดการซื้อที่ไม่จำเป็น และทำให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และช่วยลดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
3) Resource Recovery เป็นการออกแบบให้มี “ระบบนำกลับ” เพื่อนำวัตถุดิบเหลือใช้ ขยะ ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่หมดอายุ กลับเข้าสู่กระบวนการใหม่ เพื่อลดการเหลือทิ้งให้มากที่สุด
4) Product Life Extension มุ่งเน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานยาวนาน ผู้ใช้สามารถซ่อมแซม อัพเกรด ปรับปรุง หรือตกแต่งใหม่ได้ ทั้งยังเอื้อต่อการนำผลิตภัณฑ์ไปรีไซเคิลได้ง่ายหลังจากที่หมดอายุการใช้งาน
5) Sharing Platform มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเริ่มมีให้เห็นตั้งแต่การใช้พื้นที่ co-working spaces การเช่าที่พักระยะสั้น การเช่าเครื่องมือหรืออุปกรณ์ การเช่าใช้รถโดยสารหรือยานภาหนะร่วมกัน เป็นต้น
เพื่อสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมไทยสามารถขับเคลื่อนธุรกิจสู่ Circular Economy เพื่อความมั่งคงทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของประเทศ EECi จึงได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรี (Biorefinery) ที่นำเอาผลิตผลทางการเกษตรมาผ่านกระบวนการทางเคมีชีวภาพ เป็น ชีวเคมีภัณฑ์ (Biochemicals) ที่สามารถทดแทนผลิตภัณฑ์ที่มาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมถึงวัตถุเจือปนในอาหาร (Food additives) และสารออกฤทธิ์ (Functional ingredients) ที่มีมูลค่าสูงที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและโภชนเภสัชภัณฑ์ (Nutraceuticals) โดยจะมีการปรับแปลงเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีนี้ให้เข้ากับชีวมวลในไทย เช่น ฟางข้าว ชานอ้อย กากมัน หรือ ทะลายปาล์ม เป็นต้น
การจัดตั้งโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี (Biorefinery Pilot Plant) ในเมืองนวัตกรรมชีวภาพ (BIOPOLIS) ภายใต้ EECi ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรีของไทย และเป็นเทคโนโลยีมุ่งเป้าสำคัญของ EECi ซึ่งเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีเป็นการแปรรูปชีวมวลด้วยกระบวนการทางกายภาพ เคมี และ/หรือชีวภาพ เพื่อให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพ (Bio-based products) ประเภทต่างๆ ได้แก่ ชีวเคมีภัณฑ์ วัสดุชีวภาพ อาหาร และสารออกฤทธิ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษเพื่อเป็นองค์ประกอบในอาหารเสริมสุขภาพ เครื่องสำอาง หรือ โภชนเภสัชภัณฑ์ โดยหลักสำคัญของอุตสาหกรรมคือการให้ความสำคัญกับระบบการผลิตที่ยั่งยืนซึ่งเกิดจากการนำวัสดุทางการเกษตร โดยใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ขึ้นภายในเมืองนวัตกรรม ARIPOLIS ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองนวัตกรรมเป้าหมายภายใต้ EECi ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ เพื่อช่วยลดช่องว่างของการพัฒนาอุตสาหกรรมและสามารถช่วยยกระดับการผลิตสู่ Industry 4.0 ได้ในอนาคต ซึ่งเทคโนโลยี “แพลทฟอร์ม IDA” (Industrial IoT and Data Analytics Platform: IDA Platform) เป็นแพลทฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม ที่ช่วยติดตาม วิเคราะห์ข้อมูล และตรวจสอบประสิทธิภาพการผลิต การใช้พลังงาน รวมถึงค่าสภาวะต่าง ๆ ของเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อช่วยปรับปรุงกระบวนการการผลิตให้มีศักยภาพและแม่นยำมากขึ้น
ที่มา:
5 reasons to shift from a ‘throw-it-away’ consumption model to a ‘circular economy’
https://www.weforum.org/agenda/2021/02/change-five-key-areas-circular-economy-sustainability/
TBCSD Sustainable Development
http://www.tei.or.th/file/library/2019-TBCSD-SD_28.pdf
CEO Guide to the Sustainable Development Goals https://www.wbcsd.org/contentwbc/download/3877/51694/1