EECi ได้ร่วมเสวนาในงาน Intermach 2024 โดยได้มีการบรรยายในหัวข้อ “EECi and Biorefinery Industry: Upscaling from a laboratory to a multi-ton scale of high value bio-based products” (EECi กับอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่…จากห้องปฏิบัติการสู่การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ)
โพสเมื่อ : 16 พฤษภาคม 2024
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 #EECi ได้ร่วมเสวนาในงาน Intermach 2024 โดยได้มีการบรรยายในหัวข้อ “EECi and Biorefinery Industry: Upscaling from a laboratory to a multi-ton scale of high value bio-based products” (EECi กับอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่…จากห้องปฏิบัติการสู่การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ) โดยมีตัวแทนในการเสวนา 3 ท่านคือ รองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ภวสันต์ (ที่ปรึกษาด้านวิชาการ บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด) ดร.ญาติกา สมร่าง (ผู้ช่วยผู้จัดการ ฝ่ายความร่วมมืออุตสาหกรรม EECi) และ ดร.ธรรมฤทธิ์ ขำปลอด (วิศวกรอาวุโส ผ่ายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน EECi)
อุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี (Biorefinery) ถูกจับตามองว่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคต ดังจะเห็นได้จากหลาย ๆ ประเทศในโลก โดยเฉพาะประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยี และประเทศที่มีจุดแข็งด้านการเกษตร ได้กำหนดให้อุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีกลไกส่งเสริมการลงทุนวิจัยพัฒนา สนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทหลักในการพัฒนาเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรและทรัพยากรชีวภาพ ประเทศไทยมีความพร้อมของวัตถุดิบตั้งต้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุดิบในกลุ่มแป้งและน้ำตาล รวมถึงมีวัสดุเหลือทิ้งการเกษตร ที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกผลผลิตทางการเกษตรในรูปของวัตถุดิบ ซึ่งเป็นสินค้าแปรรูปขั้นต้นที่มีมูลค่าเพิ่มไม่มาก แต่นำเข้าสารเคมี วัสดุ และพลังงานรวมกันคิดเป็นมูลค่ามากกว่า สองล้านล้านบาทต่อปี ในส่วนของความพร้อมด้านเทคโนโลยีชีวภาพนั้น ประเทศไทยมีการวางรากฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรีมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งเป็นฐานสำคัญให้กับการพัฒนาของอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรีได้เช่นกัน ไบโอรีไฟเนอรีนับเป็นทางออกที่สำคัญที่ช่วยให้เปลี่ยนชีวมวลให้เป็นผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพมูลค่าสูงที่เป็นมิตรและยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมทดแทนผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ยาง และพลาสติก
“ประเทศไทยมีความได้เปรียบจากการเป็นประเทศเกษตรกรรม มีผลผลิตทางการเกษตรหลากหลายชนิด เช่น ข้าว น้ำตาล มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน จึงทำให้มีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมาก และมีกากหรือผลผลิตเหลือใช้ทางการเกษตรที่เป็น By-product มากมาย อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการขยายขนาดกระบวนการผลิต (scale-up) ซึ่งเป็นกระบวนการในการทำให้ผลิตภัณฑ์จากห้องทดลองสามารถขยายขนาดสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ ในกระบวนการนี้ต้องอาศัยการลงทุนในรูปแบบของเงิน ในการสร้างโรงงานต้นแบบ การพัฒนาคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการขยายขนาดการผลิต และเวลาในการก่อสร้างโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) ซึ่งในประเทศไทยปัจจุบันมีโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรีที่เปิดให้ภาคเอกชนเข้าไปใช้งานได้เพียง 10 แห่งเท่านั้น ทั้งโดยส่วนใหญ่ยังไม่รองรับมาตรฐาน GMP จึงไม่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและยาได้ และยังไม่มีกระบวนการแยกผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ (downstream processing) ที่จะรองรับการพัฒนากระบวนการผลิตจนถึงผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย (finished products) เพื่อประเมินความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีและทางเศรษฐศาสตร์หรือเพื่อผลิตสำหรับทดลองตลาด ถือเป็นข้อจำกัดสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ของผู้ประกอบการไทย” ดร.ญาติกา กล่าวถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรีของไทย
เพื่อปิดช่องว่างและแก้ปัญหาการพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพของประเทศ EECi จึงได้จัดตั้ง “โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรีเพื่อการขยายขนาด” ที่ออกแบบโดยยึดหลัก MULTIPURPOSE คือ MULTI Raw materials สามารถรองรับชีวมวลที่หลากหลาย, MULTI Processes โรงงานต้นแบบแห่งนี้มี Module เพื่อรองรับชีวมวลทั้งหมดเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์สุดท้าย, และ MULTI Products รองรับการผลิตผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพได้ครอบคลุมตั้งแต่ ผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ (Biochemicals) และสารชีวภาพที่ให้คุณสมบัติพิเศษ (Biospecialties) ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร หรือเวชสำอาง ได้แก่ สารที่ให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ (Functional ingredients) อาหารเสริมสุขภาพ (Nutraceuticals and functional foods)
ดร.ธรรมฤทธิ์ ได้ให้ข้อมูลรายละเอียดของ “โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี” ของ EECi ว่า ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับผู้ประกอบการในวงกว้าง จึงมีความยืดหยุ่นและรองรับความต้องการที่หลากหลาย มี Fermenter ขนาดใหญ่สูงสุดถึง 15,000 ลิตร มีกระบวนปลายน้ำเพื่อที่จะพัฒนากระบวนการจนได้เป็นผลิตภัณฑ์สุดท้าย (Downstream Process) ไปจนถึง Packaging Unit นอกจากนี้ยังมีวิศวกร และผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาตลอดกระบวนการ Scale-up ผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงสนับสนุนการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ให้สามารถออกสู่ตลาดได้
รองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ได้พูดในประเด็นของประเทศไทยว่ามีศักยภาพทั้งในเรื่องของความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งประโยชน์เชิงเศรษฐกิจของ Biorefinery ว่า การนำ Biomass ต่างๆ ที่มีมากมายในประเทศมาใช้เป็นวัตถุดิบ ถือเป็นทางออกในการใช้ประโยชน์จาก Biomass เหล่านี้เพื่อสร้างเป็น Value-added Products ที่มีมูลค่าสูง
อย่างไรก็ตาม การที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เองทั้งหมดภายในองค์กรนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะมีข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน ต้องลงทุนทั้งเครื่องมือเครื่องจักร ผู้เชี่ยวชาญ และเวลา ดังนั้นการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่มีความพร้อม มีเทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจึงเป็นทางเลือกที่ดีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ่านความร่วมมือ
Biorefinery จะมีส่วนช่วยในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโดยการกระจายแหล่งรายได้สําหรับเกษตรกรและอุตสาหกรรม เกษตรกรสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมโดยการจัดหาวัตถุดิบชีวมวล ในขณะที่อุตสาหกรรมสามารถผลิตและจําหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพได้
ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารการบรรยายได้ที่นี่