th | en
th | en

Regulatory Sandbox คำตอบสำหรับการผลักดันนวัตกรรมสู่การผลิต

โพสเมื่อ : 27 กันยายน 2020

ในยุคของ Disruptive Technology ซึ่งเทคโนโลยีมีการผลิกผันแบบก้าวกระโดดและขับเคลื่อนเราโลกสู่ยุคใหม่อย่างรวดเร็ว หากมองในมุมของภาคอุตสาหกรรมนี่ถือเป็นโอกาสในการสร้างความก้าวหน้าและพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้กับธุรกิจ Technology Start-up ในการเติบโต อย่างไรก็ตาม การ Disruptive นั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการผสานระหว่างการคิดค้นเทคโนโลยี ความต้องการทางสังคม และแรงผลักดันทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด จนสินค้าหรือบริการนั้น ๆ มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและวิถีชีวิตของผู้บริโภค

แต่ก่อนที่จะสามารถนำเทคโนโลยีใหม่หรือนวัตกรรมใดๆ ออกสู่เชิงพาณฺชย์ได้นั้น จำเป็นต้องมีแนวทางในการที่จะกำกับดูแล รวมทั้งกำหนดมาตรฐานรับรองคุณภาพและความปลอดภัย เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง ทั้งนี้ ในมุมมองของภาคธุรกิจก็พบว่ากฎหมายหรือกฎระเบียบจำนวนมากนั้นไม่สามารถปรับให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรนวัตกรรม ทำให้เกิดความล่าช้าในการนำนวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์ ด้วยสาเหตุข้างต้น กลไกที่เรียกว่า “Regulatory Sandbox” หรือ “พื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบสำหรับการพัฒนานวัตกรรม” จึงได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการทำนวัตกรรมของภาคอุตสาหกรรมให้มีความคล่องตัว ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ประกอบการสามารถทดสอบผลิตภัณฑ์ หรือปรับแต่งโมเดลทางธุรกิจ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกดำเนินการทางกฎหมาย หากว่าแนวคิดทางธุรกิจหรือนวัตกรรมที่คิดสร้างขึ้นนั้นขัดกับกฎระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนได้เป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐก็ได้เรียนรู้ถึงช่องว่างทางกฎหมายและสามารถปรับปรุงให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม

สำหรับประเทศไทยก็เช่นกัน เพื่อเป็นการสร้างให้เกิดความเข้มแข็งและความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรมของภาคอุตสาหกรรม รัฐบาลจึงได้กำหนดให้มีการจัดตั้ง Regulatory Sandbox เพื่อส่งเสริมการวิจัยและส่งเสริมนวัตกรรมด้านใหม่และพัฒนากำลังคนระดับสูงเฉพาะทาง โดยให้ได้รับการส่งเสริมและสิทธิประโยชน์ หรือการยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติของกฎหมายหรือกฎข้อบังคับใดมาใช้บังคับ (สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ)

ในส่วนของพื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบสำหรับการพัฒนานวัตกรรมบนพื้นที่ EECi ถือเป็นสนามทดลองและทดสอบเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความปลอดภัย พร้อมการสนับสนุนด้านการเชื่อมโยงระหว่างผู้พัฒนานวัตกรรมกับหน่วยงานกำกับดูแล ก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในปัจจุบันมีโครงการที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ ได้แก่

  • การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนกิจกรรม การทดสอบ วิจัย และพัฒนานวัตกรรมทางโทรคมนาคมและเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ใช้คลื่นความถี่ในการรับส่งข้อมูล โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดทำคู่มือ เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมในพื้นที่กำกับดูแลเป็นการเฉพาะ เพื่อที่ผู้ประกอบการสามารถใช้เป็นแนวทางและขั้นตอนในการขอใช้ความถี่เพื่อพัฒนาและทดสอบนวัตกรรม (รายละเอียดสามารถดูเพิ่มเติมในเอกสารดาวน์โหลด)
  • การอนุญาตให้ทดสอบเพื่อพัฒนา Unmanned Aerial Vehicle (UAV) และ Unmanned aircraft system traffic management (UTM) เพื่อสนับสนุนกิจกรรม การทดสอบ วิจัย และพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอากาศยานไร้คนขับ

EECi มุ่งหวังให้ภาคธุรกิจได้รับประโยชน์จากกลไก Regulatory Sandbox และร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสนับสนุนและยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) ซึ่งกลไกดังกล่าวจะช่วยให้ภาคเอกชนสามารถใช้ประโยชน์จาก Disruptive Technology ได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการทำนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถนำเสนอสินค้าและบริการออกสู่ตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา

กดติดตาม EECi เพื่อรับข่าวสารด้านนวัตกรรมที่น่าสนใจ

ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 0-2564-8000 email: info@eeci.or.th

อ้างอิงที่มาข้อมูล

https://www.nxpo.or.th/th/sandbox/

https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/645267

https://positioningmag.com/62128

 คู่มือ-หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่

footer-shape