เทคโนโลยี IoT เพื่อเกษตรแม่นยำ
โพสเมื่อ : 29 มีนาคม 2021
เราควรจะเตรียมรับมืออย่างไรเมื่อแนวโน้มการเติบโตของความต้องการอาหารมาพร้อมกับการขีดจำกัดด้านพื้นที่และทรัพยากรในการเพาะปลูก
องค์การสหประชาชาติได้คาดการณ์ว่าประชากรโลกจะมีจำนวนถึง 9.7 พันล้านคนภายในปี 2050 และภายในปี 2030 ปริมาณน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคจะต่ำกว่าความต้องการใช้น้ำจริงถึงราว 40% นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของต้นทุนด้านพลังงาน แรงงาน และธาตุอาหารที่ใช้ในการเพาะปลูกที่เพิ่มสูงขึ้น พื้นที่เพาะปลูกที่เสื่อมสภาพและต้องการการปรับปรุง ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ แรงกดดันจากหน่วยงานเพื่อสังคมและผู้บริโภคในเรื่องของความยั่งยืนทางการเกษตรและมาตรฐานการผลิตสินค้าทางการเกษตรแบบลดการใช้สารเคมีและน้ำ
ปัจจัยข้างต้นสร้างแรงผลักดันให้ภาคการเกษตรหันมาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล จากเดิมที่เคยเน้นการใช้เครื่องจักรร่วมกับเทคโนโลยีด้านการคัดเลือกพันธ์และการใช้ปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลผลิต ต้องเริ่มมาใส่ใจและพัฒนาในเชิงลึกและซับซ้อนยิ่งขึ้น ตั้งแต่การใช้น้ำและทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด การนำเทคโนโลยีมาใช้ประกอบการตัดสินใจ การติดตามการเติบโตและคุณภาพของผลิตผลทางการเกษตร (ทั้งพืชและสัตว์) เป็นต้น
ซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้ในการบริหารจัดการเพาะปลูกเพื่อใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ หรือที่เรียกว่า “เกษตรแม่นยำ (precision agriculture)” นั้นไม่พ้นต้องมีการนำเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) เข้ามาร่วมใช้ ตั้งแต่ 1) เครื่องมือและอุปกรณ์ เช่นเซนเซอร์ที่ใช้ในการตรวจจับ ตรวจวัด และติดตาม รวมถึงซอฟท์แวร์ที่ใช้ในการควบคุมอุปกรณ์และเครื่องมือในการทำเกษตรแม่นยำ 2) เทคโนโลยี เช่น ระบบระบุตำแหน่งแบบแม่นยำสูง การตรวจวัดระยะไกล และ Variable Rate Technology, VRT เป็นต้น 3) แอปพลิเคชัน เช่น การตรวจวัดสภาพอากาศ การวัดผลผลิต การตรวจวัดในพื้นที่เพาะปลูก และการจัดการของเสีย เป็นต้น
จากการศึกษาของ NECTEC พบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการทำเกษตรแบบดั้งเดิม การใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อปรับปรุงพันธุ์ และการบริหารจัดการทั่วไป จะช่วยให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า แต่หากเกษตรกรเริ่มมีการนำเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำมาใช้ในการเพาะปลูกและสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากถึง 4 เท่าเลยทีเดียว
EECi มุ่งสนับสนุนให้ภาคการเกษตรไทยมีการนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้เพื่อก้าวสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming) โดยดำเนินงานภายใต้ BIOPOLIS เป็นเมืองนวัตกรรมหลักในการขับเคลื่อน ซึ่งได้จัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อาทิ ระบบ high throughput phenotyping screening ในระดับโรงเรือนและระดับภาคสนาม เป็นระบบตรวจสอบการทำงานของพืชที่ตอบสนองต่อสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นเงื่อนไขความสำเร็จที่สำคัญของการร่นระยะเวลาของการการปรับปรุงพันธุ์ ให้ได้ลักษณะดีเด่นเร็วขึ้นให้ทันกับความต้องการของตลาดและเกษตรกร รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ ระบบ Plant factory เน้นการประยุกต์เพื่อพัฒนาต้นแบบและการสาธิตเทคโนโลยีการผลิตพืชมูลค่าสูงในระบบโรงเรือนแบบปิด
นอกจากนี้ ยังได้มีความร่วมมือหน่วยงานพันธมิตรในการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรในอีกหลากหลายโครงการ อาทิ ความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ในโครงการพัฒนาแผนที่นำทางเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
กดติดตาม EECi เพื่อรับข่าวสารด้านนวัตกรรมที่น่าสนใจ
ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 0-2564-8000 email: info@eeci.or.th
อ้างอิงแหล่งที่มาข้อมูล
Agriculture’s connected future: How technology can yield new growth (McKinsey & Company)
Precision Farming เทคโนโลยีผสมผสานการเกษตรยุคดิจิทัล (NECTEC)