th | en
th | en

เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนมุมมองเกษตรกรสวนทุเรียน

โพสเมื่อ : 20 พฤศจิกายน 2020

ทุเรียนถือเป็นผลไม้ที่มีความสำคัญต่อภาคการเกษตรของไทยที่ได้รับความนิยมในการบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งยังสร้างรายได้เป็นจำนวนมากให้กับประเทศจากการส่งออก ในปี 2562 การส่งออกทุเรียนและผลิตภัณฑ์จากทุเรียนมีมูลค่ารวมสูงถึง 51,035 ล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตอีกกว่า 30% ในปี 2563

ประเทศไทยจะถือเป็นแหล่งเพาะปลูกทุเรียนที่ดีที่สุดของโลก เนื่องจากมีสภาพภูมิศาสตร์เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต มีสายพันธุ์ทุเรียนที่ดี รวมทั้งการมีองค์ความรู้ ทักษะ และความสามารถของเกษตรกรที่ผ่านการสั่งสมมาอย่างยาวนาน แต่ด้วยความต้องการของทุเรียนในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรในต่างประเทศเริ่มหันมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนามและมาเลเซียที่ต่างเร่งพัฒนาคุณภาพของทุเรียนเพื่อการส่งออกมาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น จีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าทุเรียนอันดับหนึ่งของโลก ก็อยู่ระหว่างการศึกษาและทดลองปลูกทุเรียนในพื้นที่บนเกาะไหหลำ มณฑลไห่หนาน โดยได้ทดลองปลูกมาตั้งแต่ปี 2557 จำนวน 40 ต้น และสามารถให้ผลผลิตทุเรียนหมอนทองซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมสูงได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในช่วงต้นปี 2562 และจะมีการดำเนินการและทดลองวิจัยเพิ่มเติมในเรื่องของการปรับพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสมยิ่งขึ้น แน่นอนว่าหากไม่มีการปรับตัวเกษตรกรไทยจะต้องได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ในเวลาอีกไม่นาน ทั้งจากเรื่องของการตลาดที่มีการแข่งขันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรื่องปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของน้ำใช้ในการเพาะปลูกที่มีไม่เพียงพอกับความต้องการ

ในการปลูกทุเรียนนั้น “น้ำ” ถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก ยิ่งเมื่อ “ทุเรียน” เป็นพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ทำให้พื้นที่เพาะปลูกทุเรียนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาสำคัญที่ตามมาคือเรื่องของความต้องการใช้น้ำในภาคการเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน ภาคตะวันออกซึ่งแหล่งปลูกทุเรียนที่สำคัญของไทยก็ยังมีการเติบโตจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งจะดึงดูดการลงทุนใหม่ เกิดการขยายตัวของภาคการผลิต ภาคการบริการ และจะส่งผลให้มีการขยายตัวของประชากรในพื้นที่ และความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างมาก วิกฤตขาดแคลนน้ำจึงเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อรองรับปริมาณความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่กับภาคการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของประชากรดั้งเดิมในพื้นที่

“น้ำเพื่อการเกษตร” ในภาคตะวันออกคิดเป็นสัดส่วนถึงกว่าร้อยละ 70 รองลงมาได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม และอุปโภค-บริโภค และการท่องเที่ยว แต่หากมองในมุมของการสร้างรายได้ น้ำในการเกษตร 1 ลบ.ม. สร้างรายได้เพียง 11 บาท ในขณะที่น้ำในอุตสาหกรรมสร้างรายได้ 155 บาท และในภาคบริการสร้างรายได้ 333 บาท (นิพนธ์ พัวพงศกร, 2561) ดังนั้น ตัวแปรสำคัญที่ควรให้ความสนใจคือศึกษาปริมาณความต้องการใช้น้ำที่แท้จริงของผลิตผลทางการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียน เพื่อให้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของทุเรียน ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนาให้ครอบคลุมในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้มีความเชื่อมโยงกัน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ที่ส่งเสริมให้เกิดเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Agriculture) พร้อมกับสร้างหลักประกันให้มีน้ำใช้และมีการบริหารจัดการน้ำและการสุขาภิบาลอย่างยั่งยืนสำหรับทุกคน และยังสอดรับกับหลักการของโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ส่งเสริมให้มีการนำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาพัฒนาต่อยอดจากฐานความเข้มแข็งด้านทรัพยากรชีวภาพและผลผลิตทางการเกษตรของประเทศ

สมบูรณ์ งามเสงี่ยม เจ้าของสวนทุเรียนบัวแก้ว และรองประธานกลุ่มปรับปรุงคุณภาพทุเรียนบ้านวังจันทร์ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง หนีจากปัญหาผลผลิตทุเรียนในฤดูที่ล้นตลาดทำให้ราคาตก ด้วยการทำสวนทุเรียนนอกฤดูมาเป็นเวลามากกว่าสิบปี ด้วยความที่เป็นคนไม่หยุดที่จะเรียนรู้ เขาเปิดโอกาสให้สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร (สท.) ใช้พื้นที่เพื่อเป็นแปลงทดลองปรับแต่งเทคโนโลยี “ระบบควบคุมการให้น้ำอัตโนมัติสำหรับพืชไร่และพืชสวน” โดยทดลองกับต้นทุเรียน 30 ต้น บนพื้นที่ 2 ไร่ ภายในแปลงทดลองมีการนำระบบเซนเซอร์มาตรวจวัดค่าความชื้นในดิน ความชื้นอากาศ ความเข้มแสง และอุณหภูมิ เพื่อเก็บเป็นค่าตัวเลขที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการแปลงทุเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการให้น้ำตามความต้องการที่แท้จริงของต้นทุเรียนในแต่ละช่วงของการเติบโต ซึ่งคุณสมบูรณ์พูดถึงองค์ความรู้ในการปลูกทุเรียนของเกษตรกรไทยว่ามาจากการใช้ประสบการณ์และความรู้สึกเป็นเครื่องตัดสินใจว่า “ถ้าอากาศแบบนี้ สภาพใบแบบนี้ ต้องให้น้ำ” “อากาศอุ่นไม่เย็นจัด ไม่หนาวจัด ดอกจะออก” แต่สิ่งที่ชาวสวนไม่รู้คือ ค่าของตัวเลขที่จะมาแทนลักษณะเหล่านี้ ค่าที่จะบอกว่าให้น้ำแค่ไหนถึงจะพอ ซึ่งที่ค่าเหล่านี้มีความจำเป็นและเป็นข้อมูลที่เกษตรกรต้องการรู้

คุณสมบูรณ์ได้เรียนรู้การใช้งานระบบ ทดลองการทำงานของเซนเซอร์ในตำแหน่งต่าง ๆ รวมทั้งทดลองตั้งค่าความชื้นในดินโดยแปลงจากความรู้สึกเป็นตัวเลข แม้จะพบปัญหาในช่วงแรก เขาก็ยังให้ความสนใจเรียนรู้และปรับตัวกับการใช้งาน ขณะเดียวกันยังให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับทีมวิจัยทำให้การพัฒนาและปรับแต่งเทคโนโลยีมีความแม่นยำและเหมาะสมในการใช้งานยิ่งขึ้น เขาและนักวิจัยร่วมกันทำงานกันนานกว่า 1 ปี จึงได้ค่าตัวเลขที่สอดคล้องกับความรู้สึก สามารถลดปริมาณการใช้น้ำจากเดิมที่เคยใช้อยู่ที่ประมาณ 1,000 ลิตร/ต้น/วัน ลดลงเหลือเพียง 90 ลิตร/ต้น/วัน ทั้งยังสามารถควบคุมคุณภาพของผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบัน คุณสมบูรณ์ได้ขยายการติดตั้งเทคโนโลยีระบบให้น้ำอัตโนมัติเต็มพื้นที่ 70 ไร่ ในทุกวันเขาจะส่งข้อมูลของค่าอุณหภูมิ ค่าความชื้น และค่าความเข้มแสงที่ได้จากระบบไปให้กับกลุ่มสมาชิกเกษตรกรในพื้นที่เพื่อให้ใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง และยังเปิดให้สวนบัวแก้วเป็นสถานที่ดูงานการบริหารจัดการสวนทุเรียนนอกฤดูและการใช้เทคโนโลยีระบบควบคุมการให้น้ำสวนทุเรียนอีกด้วย “การใช้เทคโนโลยีนี้ไม่ยาก ถ้าใครใช้สมาร์ทโฟนเป็น ไม่ยากเลย เซนเซอร์และระบบช่วยเรื่องความแม่นยำ และช่วยลดต้นทุนค่าน้ำมัน ลดการใช้น้ำ เป็นการทำการเกษตรที่แม่นยำขึ้น”

ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีเป้าหมายในการพัฒนาชุมชนควบคู่ไปกับการนำนวัตกรรมมาพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมให้มีการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ผ่านการทำงานและเรียนรู้ไปพร้อมกันของทุกภาคส่วน สนับสนุนให้มีการพัฒนาจากการทำเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Farming) สู่การเกษตรสมัยใหม่ (Modern Farming) EECi เชื่อว่าความสำเร็จดังกล่าวจะเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้เกษตรกรในพื้นที่เกิดความสนใจและเปิดรับการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ในการทำการเกษตรบนพื้นฐานของเทคโนโลยีต่อไป ซึ่งหากสามารถนำมาขยายผลไปยังสวนทุเรียนอื่น ๆ ในภูมิภาคตะวันออกที่มีมากกว่า 700,000 ไร่ได้ จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำของภาคการเกษตร ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำซึ่งเป็นปัญหาหลักของภาคตะวันออก ขจัดปัญหาการแย่งน้ำกันระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร ทำให้เกิดใช้น้ำและการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน และยังลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรด้วยอีกทางหนึ่ง

อ้างอิงที่มาข้อมูล

วิทย์พลิกชีวิต เติมด้วยใจ ความรู้ เทคโนโลยี (มิถุนายน 2562), สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.)

http://www.tpso.moc.go.th/sites/default/files/thueriiyn_240863.pdf

The Global Goals For Sustainable Development (www.un.or.th/globalgoals)

งาน “Durian to Go” By สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก (27 – 29 กุมภาพันธ์ 2563)

เกษตรกรกับการใช้น้ำ “ต้นทุเรียน” ความท้าทายในการจัดการน้ำของ EEC (www.kaset1009.com)

footer-shape