th | en
th | en

วิสัยทัศน์และพันธกิจของ EECi

เพื่อให้เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเป็นพื้นที่สำหรับการคิดค้นนวัตกรรมอันจะเสริมสร้างศักยภาพของประเทศให้มีความเข้มแข็งทั้งในเชิงเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) จึงได้จัดตั้งภายใต้วิสัยทัศน์ในการพัฒนา EECi ไปสู่การเป็น “ระบบนิเวศนวัตกรรมชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ซึ่งผลงานวิจัยและนวัตกรรมนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีของประชาคมอย่างยั่งยืน” และเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าว EECi มีพันธกิจในการดำเนินงาน 5 ด้าน ดังนี้

1. เพื่อเป็นศูนย์กลางการขยายผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์และการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
EECi จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของทุกภาคส่วน โดยจะเชื่อมโยงให้อุตสาหกรรมแต่ละกลุ่มมีทิศทางในการพัฒนากลยุทธ์และความต้องการเชิงเทคโนโลยีที่สอดคล้องกัน ซี่งจะนำไปสู่การสร้างกลุ่มความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เกิดเป็นเครือข่ายที่มีการถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมระหว่างสมาชิกภายในกลุ่ม รวมถึงเป็นแหล่งรวมโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูงของภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อรองรับการขยายผลงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ (Translational Research Infrastructure) โดยมีการผ่อนปรนยกเว้นกฎหมายที่เป็นอุปสรรกับการทดสอบนวัตกรรม (Regulatory Sandboxes) เพื่อให้เป็นสถานที่ที่สามารถดำเนินการทดสอบการต่อยอดนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นเองภายในประเทศและการปรับปรุงเทคโนโลยีจากต่างประเทศให้มีความเหมาะสมกับการใช้งานในประเทศ

2. เพื่อเป็นศูนย์รวมในการพัฒนากำลังคนและพัฒนาฝีมือขั้นสูง
การเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาของอุตสาหกรรมเป้าหมาย EECi จึงมีบทบาทในการเอื้อให้กำลังคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายเกิดการเรียนรู้ทักษะใหม่ (Re-skilling) และต่อยอดพัฒนาทักษะที่มีอยู่ให้มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น (Up-skilling) จนอยู่ในระดับที่ต้องการ อีกทั้งยังให้การสนับสนุนด้านการพัฒนากำลังคนในระยะกลางและระยะยาวโดยจัดให้มีทุนการศึกษาจากภาครัฐ หลักสูตรด้านอุตสาหกรรมในระดับบัณฑิตศึกษาและหลักสูตรสองปริญญา โปรแกรมฝึกงานนักวิจัยหลังปริญญาเอก โปรแกรมการพบปะกับผู้เชี่ยวชาญที่มีความชํานาญระดับสูง (Top Notch Researcher) และศาสตราจารย์ และการจัดการศึกษาในแนว STEM education

3. เพื่อเป็นแหล่งรวมบริการเพื่อการเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี
การผลักดันให้ประเทศก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven Economy) ต้องเริ่มจากการสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมภายในประเทศและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม EECi จึงได้มีการจัดให้มีระบบการประเมินความพร้อมในหลายแขนง พร้อมทั้งมีโปรแกรมการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีจากภาครัฐ รวมถึงโปรแกรมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผู้ส่งมอบ (Supplier Development) อันจะเอื้อให้อุตสาหกรรมภายในประเทศและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถรักษาและยกระดับความสามารถทางการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

4. เพื่อส่งเสริมให้เกิดวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และการสร้างธุรกิจใหม่ (Venture Creation)
การเกิดขึ้นของวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และการแตกธุรกิจออกเป็นบริษัทใหม่ (Spin-offs) ถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการพลิกผันในภาคอุตสาหกรรม (Industry Disruption) และช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขัน EECi จึงมุ่งทำหน้าที่ในการเป็นพื้นที่เพื่อการเชื่อมโยงให้องค์กรภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงนวัตกรรมที่พัฒนาโดยวิสาหกิจเริ่มต้นเพื่อนำมาใช้ในการตอบสนองความต้องการขององค์กร นอกจากนี้ยังได้จัดให้มีบริการด้านการเงินเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้น ทั้งจากภาครัฐและบริษัทในเครือขององค์กรขนาดใหญ่ อีกทั้งยังมีการให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ และสนับสนุนด้านช่องทางการตลาด

5. เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาชุมชนโดยรอบ
EECi มีนโยบายในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาของชุมชนโดยรอบพื้นที่ผ่านการนำเทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการเพิ่มปริมาณผลผลิตและลดการใช้แรงงาน โดยได้เริ่มทำโครงการความร่วมมือระหว่างชุมชนและหน่วยงานสมาชิกของ EECi เพื่อกระตุ้นให้มีการจัดทำกิจกรรมที่อิงตามความต้องการของผู้ใช้เป็นหลัก นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพทางการศึกษาและทักษะของนักเรียนนักศึกษาในชุมชนโดยรอบ สมาชิกของ EECi ยังได้ให้การสนับสนุนให้มีการจัดให้มีโปรแกรมการเรียนการสอนแบบ STEM โดยได้มีการฝึกอบรมครูผู้สอนในเชิงเทคนิคสมัยใหม่ พร้อมเพิ่มกิจกรรมนอกหลักสูตรเสริมพิเศษให้กับนักเรียนอีกด้วย

footer-shape